การนอนของทารก สำหรับห้องนอนของลูกนั้น คนไทยมักยังไม่จำเป็นต้องจัดห้องให้ (ต่างไปจากฝรั่ง) เพราะว่าคุณมักต้องการดูแลลูกในห้องของคุณแม่เองมากกว่า ฝรั่งนั้นเขาจะมีห้องของลูกซึ่งอยู่ติดกับห้องคุณพ่อคุณแม่ เวลาที่ลูกร้องเขาจะได้ยินและลุกไปดูได้สะดวก
คนไทยเราเพียงแต่จัดเตรียมที่นอนของทารกไว้ใกล้คุณพ่อคุณแม่ ประกอบด้วยเบาะรองสำหรับทารกนอน ผ้ารองกันอุจจาระ ปัสสาวะ
มีหมอนของเขา มีผ้าห่มสำหรับคลุมตัว ที่นอนควรมีความแข็งพอสมควร ไม่ควรใช้เบาะนุ่มนิ่ม จนตัวทารกจมลงไป
หมอนก็ไม่ควรหนานุ่มมาก จนอาจทำให้ทารกซึ่งนอนคว่ำหน้า ถูกหมอนอุดรูจมูกไว้หมด จนหายใจไม่ออก นอกจากนั้นยังพบว่า
น้ำนมอาจจะย้อนออกมา เนื่องจากการนอนทับกระเพาะอาหารและอาจสำลักเข้าไปในปอดได้
ทารกควรได้นอนในที่ถ่ายเทสะดวก สะอาดปราศจากแมลงรบกวนโดยเฉพาะยุงหรือมด มีอุณหภูมิพอเหมาะประมาณ 24-26 องศาเซลเซียส ถ้าอากาศร้อนหรือหนาวเกินไปจะรบกวนการนอนของเด็ก ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับแล้วตื่นเร็วเกินไป รวมทั้งยังอาจทำให้ไม่สบาย เจ็บไข้ เป็นหวัด
ทารกควรได้นอนในที่สงบเงียบ โดยเฉพาะในวัย 3 เดือนแรกเด็กจะไวต่อเสียงมาก เมื่อมีเสียงดังมากหน่อยหรือแรงสั่นสะเทือนสักเล็กน้อยก็ทำให้เด็กผวาตื่นแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะให้เขาอยู่เงียบคนเดียวหรอกนะ คนในบ้านก็ยังมีกิจกรรมประจำวันเพียงแต่เบาๆให้เขาหน่อย จนเมื่ออายุเข้า 4 เดือน อาการผวาสะดุ้งตื่นจะน้อยลง อย่างไรก็ตามอย่าสร้างความรำคาญรบกวนขณะนอนหลับ การที่เด็กทารกได้นอนหลับยาวจะช่วยให้มีการหลั่งฮอร์โมนซึ่งช่วยให้เจริญเติบโตดี ซึ่งเป็นอย่างนี้ในเด็กโตด้วย ส่วนผู้ใหญ่การนอนเต็มอิ่มเป็นช่วงเวลาของการซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ
คุณแม่บางคนเลือกใช้เตียงนอนที่มีซี่กรงรอบด้านมาให้ลูกด้วยเหตุผลว่า มีความปลอดภัยจากสิ่งรบกวน เช่น สัตว์เลี้ยง หรือพี่สาว พี่ชายของทารกที่ยังเล็กนัก รวมทั้งปลอดภัยจากมดแมลงมาไต่ตอม ทั้งยังทำให้คุณแม่ไม่ต้องพะวงนักเวลาที่ต้องทำภารกิจอย่างอื่นอยู่ อีกอย่างหนึ่งคือ เตียงนั้นอยู่สูงกว่าพื้นทั่วไป โอกาสที่จะเจอความสกปรก ฝุ่นผงจากพื้นก็จะน้อยลง คุณแม่ควรทราบไว้ด้วยว่า ความห่างของซี่กรงนั้นสร้างปัญหาให้แก่ทารกได้ เช่น แขน ขา หรือศีรษะ ของเขาลอดออกมาตรงซี่กรง เขาจะดิ้นรนหาหนทางเอาออกกลับมาอยู่ที่เดิม ทำให้แขน ขา ได้รับบาดเจ็บ บางครั้งก็เป็นอวัยวะใหญ่อย่างเช่น ศีรษะ ซึ่งมีอันตรายร้ายแรง เพราะฉะนั้นควรเลือกซี่กรงถี่หน่อย หมั่นไปดูลูกบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเขาร้องไห้
หากที่บ้านมียุงมาก กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ยากลำบากนักควรหามุ้งครอบสะอาดๆ โปร่งๆ มาไว้ใช้ด้วย ยุงนอกจากกัดกินเลือดรบกวนการนอนหลับแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคตั้งหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสแจแปนนิสบี
นอนคว่ำ นอนหงาย หรือนอนตะแคงจึงจะดี
รูปแบบการนอนของทารกนั้น มีการวิเคราะห์ออกมาแล้วว่า หากทารกนอนคว่ำหรือนอนตะแคง (ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่นิยมทำกัน) มีข้อดีคือ ทำให้ทารกมีรูปศีรษะสวย อย่างที่เรียกว่า “หัวทุย” การนอนคว่ำทำให้อาหารเคลื่อนลงจากกระเพาะอาหารสู่ลำไส้เล็กเร็วขึ้น ทำให้อากาศในท้องถูกทับแล้วทารกจะเรอออกเอาลมออกมาได้ง่ายขึ้น ทารกจะหลับได้นานเพราะหน้าอกอบอุ่น ซุกอยู่กับที่นอน การนอนคว่ำมีข้อควรระวังคือ หากหมอนนุ่มเกินไป จะทำให้ใบหน้า จมูกของทารกจมลงไปในหมอนจนขาดอากาศหายใจ ส่วนการนอนตะแคงนั้น
ถ้าหากว่านอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่งมาเกินไป ศีรษะก็จะเบี้ยวไปทางนั้น ส่วนการนอนหงายอย่างที่คนไทยสมัยก่อนมักชอบผูกเปลด้วยผ้าขาวม้าให้เด็กนอนนั้น รูปหัวก็จะไม่สวย และเด็กไม่ค่อยสบายตัว มักจะตื่นบ่อยๆ อย่างที่ต้องเทียวมาไกวเปลบ่อยๆ หากทารกอาเจียนออกมาก็จะทำให้เกิดการสำลักเข้าหลอดลมมากกว่าท่านอนตะแคงหรือท่านอนคว่ำ
นอนกี่ชั่วโมงจึงจะดี
ในระยะแรกเด็กมักจะหลับในตอนกลางวัน แล้วตื่นตอนกลางคืนเกือบตลอดเวลาเป็นระยะไม่กี่วัน ซึ่งคุณแม่ต้องปรับตัวใหม่เพื่อดูแลลูกน้อย ให้ดูดนมเวลากลางคืน เด็กจะค่อยๆเปลี่ยนมานอนกลางคืนและตื่นกลางวันเอง
จนเมื่ออายุครบ 1 เดือน การนอนกลางวันใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง และกลางคืนนอนยาวนานถึง 10 ชั่วโมง แรกเกิด
จนถึงอายุ 2 เดือน ทารกควรได้นอน 16-20 ชั่วโมงต่อวัน ควรใช้ผ้าห่มตัวทารกให้มีความอบอุ่นพอเหมาะ ผ้านั้นควรมีการระบายอากาศดี เช่น ผ้าห่มสำลีอย่างเนื้อบาง หรือผ้าขนหนูเนื้อนุ่ม ไม่ต้องหนามาก ห่มผ้าไว้เพื่อไม่ให้แขนขาของเขากระตุกขณะหลับ และต้องไม่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด ควรเตรียมผ้าห่ม 3-4 ผืน เพราะเวลาอุจจาระ ปัสสาวะก็มักเปรอะเปื้อนผ้าห่มไปบ้าง ผ้าขนหนูที่ใช้ห่มตัวเด็กนี้คุณแม่จะเอาไปเช็ดตัวเด็กหลังอาบน้ำก็ได้
อายุ 2-3 เดือน
ควรนอน 15-18 ชั่วโมง อาจตื่นขึ้นมาเองโดยไม่หิว คุณแม่ควรอุ้มเดินแล้วพูดคุยด้วย หากลูกตื่นกลางคืนเพราะหิว ควรให้น้ำนมแต่ไม่หยอกล้อด้วย เพื่อให้เด็กได้นอนหลับต่อ อย่าให้เด็กหลับคาขวดนม น้ำนมอาจไหลผ่านไปในหู ทำให้หูอักเสบขึ้นมาได้ จนเมื่อโตขึ้นแล้วก็ไม่ควรให้หลับคาขวดนมเช่นกัน
อายุ 4-6 เดือน
นอนกลางคืน 9-12 ชั่วโมง นอนกลางวัน 2 ครั้ง ครั้งละ 2-3 ชั่งโมง คุณแม่ควรฝึกให้ทารกหลับเป็นเวลา และมีที่นอนประจำ หากลูกตื่นนอนควรเข้าไปโอ๋ ร้องเพลงกล่อมเบาๆ ให้เขาหลับต่อ การสร้างบรรยากาศให้เด็กนอนหลับง่าย เช่น การร้องเพลงกล่อมก่อนนอน เป็นสิ่งสำคัญ รู้จักกันดีตั้งแต่สมัยโบราณมาจนมีเพลงเห่กล่อมเด็กในสมัยก่อนให้คนปัจจุบันได้ยินได้ฟัง เด็กจะมีความชอบดนตรี มีจิตใจอ่อนโยน
เมื่อเด็กอายุได้ 6 เดือน
แพทย์บอกว่าเขามีความจดจำแล้ว หากจะอยากเล่านิทานก็เล่าได้หรือจะรอให้เด็กโตจนพูดได้ก่อนจึงค่อยเล่านิทานให้ลูกฟังก็ไม่เป็นการช้าเกินการแต่อย่างใด เลือกนิทานที่ดี สั่งสอนให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม มีความขยัน หมั่นเพียร
อายุ 7-8 เดือน
นอนกลางคืน 10-12 ชั่งโมง นอนกลางวัน 1-2 ครั้ง ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง ช่วงวัยนี้ควรให้ลูกเลิกดื่มนมตอนกลางคืนได้แล้วคะ โดยก่อนนอนก็ให้เขาดื่มนมให้อิ่ม การตื่นนอนกลางคืน อาจไม่ใช้เพราะหิวก็ได้ อย่าเพิ่งคว้าขวดนมยัดปากลูกลูกอาจตื่นขึ้นกลางดึกเพราะฝันร้ายก็มี ควรปลอบโยนตบก้นตบหลังเบาๆ และก่อนนอนควรเลือกใช้ผ้าอ้อม (แพมเพอร์ส) ที่ซึมซับได้ดีจะช่วยให้เด็กหลับได้ยาวนาน ไม่สะดุ้งตื่นเพราะความเปียกชื้น
อายุ 9-12 เดือน
นอนกลางคืน 11-12 ชั่วโมง และนอนกลางวัน 1-2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2 ชั่งโมง เด็กคลานเก่งและเริ่มตั้งไข่ ให้อยู่ในห้องเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ หรือคนเลี้ยงไปก่อนระวังเรื่องเด็กตกเตียงให้ดี การเปิดไฟสว่างทำให้เด็กส่วนใหญ่นอนไม่หลับด้วย หากคุณตื่นกลางดึกหรือตื่นเช้าก่อนเด็ก ก็อย่าเปิดไฟรบกวนเขาเลย
อายุ 1-2 ขวบ
นอนกลางคืน 11-12 ชั่วโมง และนอนกลางวัน 1 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2 ชั่วโมง พาเขานอนแต่หัวค่ำส่วนการนอนกลางวันนั้น เมื่อไรก็ตามที่เขาเริ่มง่วง ท้องอิ่ม ตาปรอย ก็ให้เขาได้อยู่เงียบๆ อุ้มเดินแล้วโอ๋เขาสักพักเดียว ก็จะหลับคาอกคุณแม่ อย่าไปพูดคุย ชวนเล่นเกม เล่นของขณะที่เด็กเริ่มง่วง เพราะกว่าที่เขาจะเริ่มรู้สึกง่วงอีกนาน เนื่องจากวัยนี้เด็กชอบเล่น ชอบสำรวจสิ่งของต่างๆ ไปรอบบ้านทั้งวัน เพราะว่าเขาสามารถเดินได้แล้ว จึงไม่ค่อยอยู่นิ่ง
อายุ 2 ขวบขึ้นไป
ลูกโตขึ้นจนวิ่งเล่นได้แล้ว ควรแยกห้องนอนไปอยู่กับพี่น้องของแก หากอยู่ห้องเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ เด็กจะรู้สึกผูกพันหรือเรียกว่า “ติดห้องแม่” ไม่อยากจะแยกห้องนอน เวลาที่โตขึ้นรู้ความแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะมีกิจกรรมพิเศษให้เด็กเห็นก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง เวลาในการนอนของทารกกลางคืน 10-12 ชั่งโมง การนอนกลางวันจะลดน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น วัยนี้เด็กกินอาหารได้หลากหลายประเภทแล้ว การให้อาหารตามใจเด็ก เช่น อาหารไขมันสูง เช่น ฮอตดอก ช็อกโกแลต ขนหวานทำด้วยกะทิ กุนเชียง สิ่งเหล่านี้ทำให้รบกวนการนอนหลับ
บทความจาก www.pattankarn. |